ไขความลับ 600 ปี! ‘วอยนิช’ หนังสือลึกลับที่สุดในโลก มนุษย์ได้อะไร หลังถอดรหัสปริศนาสำเร็จ

บนโลกใบนี้มีเรื่องลึกลับมากมายที่ยังเป็นปริศนา เช่นเรื่องราวของ “วอยนิช” หรือเรียกว่า “หนังสือวอยนิช” (Voynich manuscript) ซึ่งถูกตั้งตามชื่อของนายวิลฟริด เอ็ม. วอยนิช (Wilfrid M. Voynich) พ่อค้า นักสะสมหนังสือเก่า เชื้อสายโปแลนด์-อเมริกัน ที่ได้หนังสือเล่มนี้มาเมื่อปี 1912 จากนักบวชในอิตาลี

หนังสือเป็นกระดาษที่ทำจากหนังลูกวัว 240 กว่าหน้า ซึ่งมีเล่มเดียวในโลก ถูกเขียนด้วยลายมือจากปากกาขนนก ในสมัยต้นศตวรรษที่ 15 หรือกว่า 600 ปีที่แล้ว มีความพิสดาร คือ ไม่มีผู้ใดในโลกอ่านมันออกหรือถอดความได้สักคน เหตุเพราะหนังสือลึกลับนี้ มีข้อความอักขระ และภาพวาดแปลกประหลาด ซ่อนความหมายอันซับซ้อน

เนื่องจากไม่สามารถอ่านออกได้นี้เอง จึงเป็น “ความท้าทาย” ของนักภาษาศาสตร์และนักโบราณคดี ที่ได้พยายามแปลความหมายในหนังสือนี้กันอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่หนังสือวอยนิชถูกค้นพบใหม่เมื่อปี 1912 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ แม้แต่ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการถอดรหัสโค้ดลับของนาซีก็ยังไม่สามารถทำได้ จึงกล่าวได้ว่าเป็นหนังสือที่ลึกลับที่สุดในโลกเล่มหนึ่ง

แต่!!!... ไม่มีอะไรที่เกินความพยายามของมนุษย์ เมื่อปริศนาลับถูกถอดความได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลกเมื่อปลายเดือน ม.ค. 61 โดยพึ่งพาความสามารถของ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ จากฝีมือของ “เกรก ฮอนแดร็ก” (Greg Kondrak) นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา

คนทั้งโลกได้ประโยชน์อะไร หลังถอดความสำเร็จ?
มูลเหตุใดทำไมนักภาษาศาสตร์มีความพยายามถอดความ?
มีวิธีใดอีกหรือไม่ที่จะถอดความได้?

และอีกหลากหลายประเด็นชวนคิดจากแฟนไทยรัฐออนไลน์ที่แจ้งมาผ่านอินบ็อกซ์ วันนี้ทีมข่าวฯ มีคำตอบเชิงลึกจาก รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล กูรูและผู้คร่ำหวอดด้านวิทยาศาสตร์ของไทย ผู้ที่ชอบเรื่องลึกลับ ไม่ควรพลาด

คนแรกของโลก แปลประโยคแรกของหนังสือสำเร็จ

“เป็นเรื่องน่ายินดีมากถ้า เกรก ฮอนเดร็ก ทำงานมานานเกี่ยวกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ถอดรหัสหนังสือวอยนิชได้สำเร็จจริง แม้จะเป็นเพียงประโยคเดียว ก่อนหน้านี้มีหลายครั้งที่บรรดานักถอดรหัส นักถอดภาษาโบราณเก่าแก่พยายามถอดความได้ว่าภาษาที่ใช้เขียน มีตั้งแต่ภาษาละติน ของโรมันโบราณ ภาษาทิเบต แต่จากการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์มาใช้แปลของนายเกร็ก คนแรกที่แปลประโยคแรกของหนังสือได้ สรุปค่อนข้างมั่นใจได้ชัดเจนว่าเป็นภาษาฮิบรู” รศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้มที่ปริศนาลับที่รอคอยมา 50 ปีถูกแง้มสำเร็จ

เผยความหมายประโยคแรกจาก “ตำราวอยนิช” หนังสือลึกลับเมื่อ 600 ปีก่อน

ทั้งนี้ประโยคแรกที่สามารถแปลความหมายออกมาเป็นภาษาอังกฤษที่เกรก ฮอนเดร็กทำได้สำเร็จเป็นข่าวใหญ่เมื่อปลายเดือน ม.ค. 2561 คือ "She made recommendations to the priest, man of the house and me and people” มันเป็นประโยคที่ค่อนข้างแปลกประหลาด แต่ก็น่าสนใจไม่น้อย รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ชี้เป็นโอกาสเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์จนสามารถแกะรอยเรื่องลึกลับได้

“ประโยคดังกล่าวถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า "เธอมีคำแนะนำแก่พระ หัวหน้าบ้าน ฉันและผู้คน” ผมสนใจเรื่องพัฒนาการของวิทยาศาสตร์ และหนังสือเล่มนี้เขียนด้วยลายมือในต้นศตวรรษที่ 15 ถ้าถอดรหัสได้หมดทั้งเล่ม ก็น่าจะมีองค์ความรู้ เรื่องราวต่างๆ ของยุโรปในสมัยนั้นว่าเป็นอย่างไรจากภาพประกอบต่างๆ ในเล่ม

ทั้งรูปคน พืชที่ไม่มีใครรู้จัก แปลกประหลาด ดูแล้วไม่ทราบจริงๆ ว่าคืออะไร คล้ายสมุนไพร มีภาพเชื่อมโยงทางดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ ตำราทางการแพทย์ เป็นตำรับในการปรุงยาบางอย่างหรือเปล่าด้วย” รศ.ดร.ชัยวัฒน์เกริ่นประโยชน์ต่อโลก หากถอดรหัสได้ทั้งเล่ม

ย้อนรอยอดีต กับความพยายามถอดความของคนดังระดับโลก

พร้อมนี้ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ได้เปิดเผยผู้ที่เคยพยายามถอดความอักขระปริศนา หลังจากที่หนังสือวอยนิชได้รับการเปิดเผยต่อชาวโลกครั้งใหม่มากว่า 100 ปี แต่กลับล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จเช่นเกรก ฮอนเดร็ก

ซึ่งคนแรกๆ คือ วิลเลียม นิวโบลด์ (William Newbold) ในปี ค.ศ. 1919 ถอดรหัสออกมาว่า เป็นภาษาเขียนที่ซ่อนภาษาแท้จริง เป็นภาษากรีกโบราณแบบชวเลข บอกเรื่องราวเกี่ยวกับพืช การแพทย์ ดาราศาสตร์ ที่สำคัญก็ยืนยันว่าผู้เขียนหนังสือวอยนิช คือ โรเจอร์ เบคอน ตามที่เคยมีการระบุในอดีตเมื่อหลาย 100 ปีก่อน โดยที่ โรเจอร์ เบคอนเป็นนักคิด นักวิทยาศาสตร์อังกฤษ มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโลก มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1220-1292

แต่บทสรุปของวิลเลียม นิวโบลด์ ไม่เป็นที่ยอมรับของนักภาษาศาสตร์ และประวัติศาสตร์ทั่วไป

อีก 25 ปีต่อมา ในปี ค.ศ. 1944 ฮิวจ์ โอนีลล์ (Hugh O'Neill) นักพฤกษศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง ทำการวิเคราะห์ภาพพันธุ์พืชที่ปรากฏในหนังสือวอยนิช และสรุปว่าพืชเหล่านั้นน่าจะเป็นพืชของทางทวีปอเมริกา ซึ่งจากการถอดรหัสด้วยภาพนี้ ทำให้คาดว่า อายุของตำราฉบับนี้น่าจะอยู่ในช่วงหลังจากปี ค.ศ. 1493 ที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) นำเมล็ดทานตะวันมาปลูกยังยุโรปเป็นครั้งแรก แต่ข้อสรุปนี้ก็ยังมีนักวิชาการอีกหลายท่านที่ไม่เห็นด้วยอีกเช่นกัน

มูลเหตุจูงใจ ที่ต้องเขียนข้อความลึกลับใน “วอยนิช”

เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ กระหายใคร่รู้คำตอบแท้จริง ซึ่งเคยมีบันทึกเป็นเอกสารในอดีตว่า ผู้เขียนหนังสือวอยนิช คือนักบวช นักปรัชญา และนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ชื่อ โรเจอร์ เบคอน อาจตั้งใจทำขึ้นให้สะดุดตากษัตริย์รูดอล์ฟที่ 2 ซึ่งชื่นชอบรหัสลับ จนพระองค์หลงกลซื้อด้วยจำนวนเงินในราคา 300 ดูคัตทองคำ (Gold Ducats) หรือประมาณ 14,000 ดอลลาร์ ในช่วงนั้น กับภาษาชวนพิศวง ภาพวาดประกอบสุดพิสดาร ไม่ได้ต้องการสื่อความหมายใดๆ ก็เป็นได้ ซึ่งเป็นความเห็นคล้าย รศ.ดร.ชัยวัฒน์

“การแปลไม่ออก คือ ความท้าทาย แม้แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญการถอดรหัสฝ่ายสัมพันธมิตรที่ถอดรหัสของเยอรมันนาซีได้สำเร็จ ก็ได้พยายามถอดรหัสหนังสือวอยนิชด้วย แต่ก็ไม่สำเร็จ คนเขียนตั้งใจให้ถอดยากเพื่อส่งข่าวสารบางอย่าง ภาษาที่เขียนขึ้น อาจเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ของเขาก็ได้

อย่าง นักวิทยาศาสตร์บางคนในยุโรป เช่น นิวตัน ตอนเขียนหนังสือวิทยาศาสตร์สำคัญ ก็ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ แต่ใช้ภาษาละติน เพราะถือว่าเป็นภาษาวิชาการที่มีความศักดิ์สิทธิ์ คนที่มีความรู้จริงถึงจะเขียนได้ คนเขียนวอยนิช เขียนขึ้นเป็นภาษาใหม่ของเขาที่ยังถอดกันไม่ออก อาจเขียนขึ้นมาเพื่อปั่นหัวคนเล่น อาจไม่มีความหมายอะไรก็ได้

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับโรเจอร์ เบคอน ในปี ค.ศ.2009 มีการตรวจอายุหนังสือวอยนิชด้วยคาร์บอน เดตติ้ง พบว่ามีอายุระหว่างปี ค.ศ.1404-1438 ซึ่งทำให้ตัดชื่อของโรเจอร์ เบคอน ในฐานะผู้เขียนหนังสือวอยนิชออกได้ เพราะโรเจอร์ เบคอน มีชีวิตอยู่ระหว่าง ปี ค.ศ.1220-1292” รศ.ดร.ชัยวัฒน์ให้ทัศนะ

AI กลไกไขรหัสได้สำเร็จ แต่นักภาษาศาสตร์กลับไม่ยอมรับ

อย่างไรก็ตาม หลังจากใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ช่วยถอดรหัสภาษาโบราณในหนังสือวอยนิชได้จริงๆ ด้วยการทดสอบกับตัวอย่างภาษาจาก Declaration of human right ของสหประชาชาติจำนวน 380 ภาษา ลงไปให้ AI ได้เรียนรู้

แล้วจึงใช้ AI กับหนังสือวอยนิช จึงได้ข้อสรุปสำคัญที่สุด แรกสุดว่า เป็นภาษาฮิบรูโบราณ แล้วจึงใช้ AI ถอดรหัสประโยคแรกของหนังสือวอยนิชได้สำเร็จดังที่เป็นข่าวใหญ่

จากการวิเคราะห์ของ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ กว่าจะถอดรหัสสำเร็จได้ 1 ประโยคนั้น ไม่ได้ทำกันง่ายๆ ต้องมีองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญคือ ต้องมีภาษาที่ถอดความได้แล้ว นำมาเปรียบเทียบได้ หากไม่มีหลักฐานความสัมพันธ์กับภาษาใดๆ เลย โอกาสและความหวังในการถอดความภาษานั้นๆ ก็ดูจะริบหรี่ ซึ่งเกรก ฮอนเดร็กก็ทำได้สำเร็จ แต่น่าเศร้าใจนัก เขาเองก็ยอมรับว่า นักภาษาศาสตร์โดยทั่วไปยังไม่ยอมรับ 

“เกรก ฮอนเดร็ก เป็นคนแรกที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ จนได้ประโยคแรก แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญ คนแปลเรื่องใหม่ๆ เรื่องเก่าเเก่ ค่อนข้างไม่สบายใจที่เขานำคอมพิวเตอร์ มาทำงานแทนมนุษย์ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งเขาค่อนข้างผิดหวัง แต่ก็ยืนยันความมั่นใจของเขา และเดินหน้าถอดรหัสข้อความในหนังสือวอยนิชต่อไป ผมก็ให้กำลังใจเขานะ ขออย่าเพิ่งถอดใจ" 

คนไทย ก็ถอดรหัสหนังสือ “วอยนิช” ได้ โดยไม่ต้องบินไกลไปอเมริกา

ด้านความยากในการถอดข้อความจากหนังสือวอยนิช ต้องอาศัยคนที่มีความรู้ในเรื่องภาษาฮิบรูและเป็นนักประวัติศาสตร์มาช่วย อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนวิธีของปัญญาประดิษฐ์อาจจะช่วยพัฒนาการถอดอักขระต้นฉบับโบราณอื่นๆ ได้เช่นกัน ต้องจับตาดูกันต่อไป เพราะในโลกมีตำราแปลกๆ อยู่อีกมาก หากคนไทยที่คิดอยากลองถอดรหัสลับ ร่วมไขข้อความภาษา ปริศนาในตำราฉบับนี้ก็ทำได้ไม่ยาก

“ใครอยากลองถอดรหัสเองก็สามารถทำได้ เนื่องจากปัจจุบันต้นฉบับวอยนิชไม่ได้อยู่กับตระกูลวอยนิช ได้รับการเก็บรักษาไว้ในห้องสมุดหนังสือหายากเบนเนคเก้ ของมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา และได้มีการนำลงในเว็บไซต์ของห้องสมุด เพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษาและลองถอดรหัสดู 

หลักถูกต้องในการถอดยังไม่ยุติ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายของนักภาษาศาสตร์ที่ต้องคิดค้นหาวิธี บางทีคนไทยอาจจะเป็นคนถอดรหัสหนังสือวอยนิชได้จริงๆ เป็นคนแรกก็ได้” รศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวยิ้มๆ 

AI จะช่วยถอดรหัสอะไรได้เพิ่มเติมต่อจากนี้หรือไม่ ตราบใดที่ยังไม่สามารถถอดความได้ทั้งเล่ม “วอยนิช” ก็ยังคงเป็นหนังสือลึกลับที่สุดในโลกเล่มหนึ่ง อยู่ในเงามืดของปริศนาลับที่ท้าทาย ที่นักภาษาศาสตร์ต้องคิดค้นกันต่อไป รวมทั้งคนไทยที่ชอบความท้าทายด้วย

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน ขอบคุณภาพจาก www.sciencealert.com

สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราวหรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่ 
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ