ศ.ระพี สาคริก คิดเหนือเปลือกมนุษย์

ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ได้ ชื่อว่าเป็นปูชนียบุคคลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และประเทศชาติ...เป็นปราชญ์การเกษตรของประเทศไทย ห่วงใยเกษตรกรไทย

ได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย”...ทั้งยังเป็นนักไวโอลิน นักเขียนหนังสือ นักวิเคราะห์ รวมถึงนักแสดงความคิดเห็นวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆโดยเฉพาะ “การเกษตรไทย” ได้มิติมุมมองรอบด้าน

“เพียงข้าวเมล็ดเดียว” หนังสือเล่มหนึ่งที่อาจารย์มอบไว้ให้กับห้องสมุดหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 16 ธันวาคม 2525 สะท้อนหลากหลายแง่มุมและประสบการณ์ที่น่าสนใจ...“ใครทำลายธรรมชาติ คือผู้ทำลายชีวิตมนุษย์รุ่นหลังๆโดยปริยาย และเป็นฆาตกรตัวฉกาจยิ่งกว่าการฆ่าคนในแต่ละคดีเสียอีก”

เรื่องบัว...พืชที่ให้ประโยชน์นานัปการ พันธุ์ไม้ประเภทบัวที่พบอยู่ตามธรรมชาติในท้องไร่ท้องนาของเมืองไทยมีอยู่มากมายหลายชนิด

ยังมิได้มีใครสนใจรวบรวมกันอย่างจริงจัง ในที่สุดมันก็จะสูญพันธุ์ไป เพราะการพัฒนาสมัยใหม่นี่แหละ เช่นเดียวกันกับพันธุ์ไม้หลายชนิดที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว คงเหลือแต่เรื่องราวในตำราไว้เป็นประวัติศาสตร์...พยายามวิเคราะห์ดูว่า “มนุษย์” ในยุคหลังๆนี้ที่เรียกว่า “ผู้เจริญ” นั้น เราเจริญจริงหรือ

หรือเจริญกันด้วยอคติ ความเห็นแก่ตัว เราได้สร้างสรรค์อะไร และเราได้ทำลายอะไร อะไรเป็นสิ่งที่มีค่าแท้จริงนั้น วันหนึ่งข้างหน้าคงจะหาคำตอบได้เอง...“ธรรมชาติเป็นสิ่งบอกเหตุในอนาคตได้เป็นอย่างดี เช่น ถ้าน้ำเน่าน้ำเสียเป็นพิษก่อนจะถึงชีวิตมนุษย์ บัวและพืชน้ำทั้งหลายจะเศร้าหมอง...ถูกทำลายไปก่อนอื่น การพัฒนาแบบสมัยใหม่ได้ทำลายชีวิต สิ่งทั้งหลายในธรรมชาติอันมีคุณค่าต่อมนุษย์ไปแล้วมากต่อมาก”

อะไรคืออำนาจ? เหมือนเป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ หากแต่มองผ่านประสบการณ์ในช่วง 57 ปีแห่งชีวิตที่ได้ผ่านพ้นมาของ ศาสตราจารย์ระพี ที่ได้มีโอกาสพบและได้เรียนรู้ “คน” มามากพอสมควร และยังคง จะต้องเรียนรู้กันต่อไปอีกตราบเท่าชีวิตยังอยู่ มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีจิตใจติดอยู่กับการแสวงอำนาจ

และ...เมื่อมี “อำนาจ” แล้ว ก็หลงใหลยึดมั่นด้วยการใช้อำนาจเมื่อสำเร็จกิจที่ตนพึงประสงค์และมัวเมากับความอยู่เหนือผู้อื่น ข่มเหงจิตใจผู้อื่น นิยมวิธีปฏิบัติต่อผู้อื่นเยี่ยงวัตถุ

มิตรรักทั้งหลาย ขอจงได้พิจารณาดูด้วยสติและปัญญาที่เรามีอยู่ด้วยเถิดว่า...คนเราทุกคน รวมถึงตัวของผู้แสวงอำนาจและมีอำนาจด้วยซึ่งจำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน ปรารถนาความสุขด้วยกันทุกคน....

“เรามิได้มีเพียงแต่ชีวิตและร่างกายเท่านั้น แต่เรามีจิตใจ เรามี ความต้องการน้ำใจ ต้องการความเข้าใจและการยอมรับที่ถูกต้องในตัวเราเองจากทุกๆคน ท่านคิดหรือว่าเพียงการใช้อำนาจเฉพาะหน้าจะช่วยให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกันปฏิบัติกิจใดๆให้แก่ท่าน ตามแนวความคิด ของท่านได้ตามประสงค์ ด้วยความมีชีวิตชีวา ถ้าท่านไม่คิดถึงการใช้น้ำใจบ้าง”

โดยธรรมชาติแท้จริงแล้ว “ไม่มีอำนาจใดๆจะยั่งยืนถาวร นอกจากอำนาจธรรมชาติหรืออำนาจธรรมะอันเป็นอำนาจแห่งความจริงของชีวิตทุกชีวิต” ดังนั้น ท่านผู้มีอำนาจทั้งหลายจึงควรจะได้ตั้งสติและคิดว่าอำนาจที่ท่านมีอยู่คือสิ่งสมมติเท่านั้น ไม่ควรหลงและมัวเมาอยู่กับอำนาจอันมิใช่ของแท้

เราควรหันมาแสวงคุณธรรมและเมตตาธรรมกันดีกว่า เพราะน่าจะเป็นการแสวงหาอำนาจอันแท้จริง และเป็นอำนาจที่ทุกชีวิตพึงปรารถนา

จึงควรจะเป็นอำนาจที่มีความยั่งยืนถาวรไปชั่วชีวิต ไม่มีใครจะแย่งชิงอำนาจชนิดนี้ไปได้เลย และนอกจากเป็นอำนาจที่ไม่ข่มเหงจิตใจผู้อื่นแล้ว ยังเป็นการสร้างสรรค์จิตใจโดยทั่วกัน และนำความร่มเย็นมาสู่จิตใจทั้ง “ผู้มีอำนาจ” และ “ผู้รับอำนาจ” ทุกชีวิตด้วย

“ดุลแห่งชีวิต”...ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวที่บางคนอาจคิดว่าเป็นของเล็กน้อย แต่ผมกลับมองเห็นว่า...ทุกสิ่งในโลกนี้มีผลเชื่อมโยงถึงกัน “ความมีชีวิตชีวาของเรื่องเล็กๆย่อมประกอบเป็นเรื่องใหญ่ๆ ดังนั้น ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่จึงมีหลักแห่งความมีชีวิตชีวาเหมือนๆกัน และเรื่องเล็กๆนี้เองมีผลมหาศาลต่อเรื่องใหญ่ๆ เพราะเรื่องเล็กๆก็มีปริมาณมากมายและประกอบขึ้นเป็นเรื่องใหญ่ๆ”

เราจึงมักพูดกันและยอมรับกันทั่วๆไปในปัจจุบันนี้ว่า การแก้ปัญหาเรื่องใหญ่ๆให้แก้จากพื้นฐานหรือแก้จากเรื่องเล็กๆไปก่อน แต่ได้พบว่า...เวลาแก้กันจริงๆ วิธีการแก้ไม่ได้ทำจากพื้นฐานหรือเรื่องเล็กๆกันสักที

จบปัญหาทีไรมองไปที่จุดใหญ่กันเสมอ ประการสำคัญคือ...ตัวผู้มีอำนาจแก้ปัญหานั่นเอง ได้ถูกหล่อหลอมมาให้มีแนวความคิด มองแบบนั้นจนเป็นธรรมชาติของนิสัย คนจะมีความรู้จากตำราเพียงใดก็ตาม ถ้าหากถูกอำนาจแห่งบรรยากาศอบรมมาให้เห็นอย่างนั้นก็ใช้ความรู้เดินไปตามทางนั้นเท่านั้นเอง

“คนที่มีลักษณะความคิดและจิตใจที่เหยียบไม่ถึงพื้นดินและห่างจากธรรมชาติของชีวิตจริง จึงไม่อาจแก้ปัญหาของคนเดินดินได้เลย”...ดังนั้น ถ้าคิดว่าเราจำเป็นต้องศึกษาตราบเท่าที่มีชีวิตอยู่ การศึกษานอกโรงเรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง และคนทุกรูป...ทุกวัย...ทุกระดับงานจำเป็นต้องคิดว่า ตนเองคือนักเรียนเสมอ ทั้งนี้ เพื่อปรับปรุงคุณภาพตนเองให้มีความหมายต่อสังคมยิ่งขึ้นตามลำดับ

ดุลชีวิตชาวบ้านแต่ละคนจึงเป็นสิ่งที่พึงสนใจและพิจารณาโดยมองข้ามไม่ได้ ก่อนการแก้ปัญหาใหญ่ๆทั้งหลาย...ยกตัวอย่างการแก้ปัญหาชีวิตชาวบ้านด้วยการทุ่มเงินเป็นวิธีการที่เสี่ยงต่ออันตรายอันพึงบังเกิดแก่ชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง ประการแรก...เงินที่ทุ่มลงไปนั้น ที่จริงก็คือเงินที่จ่ายออกมาจากเงินภาษีซึ่งเก็บจากชาวบ้านนั่นเอง...อาจมาโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตามที ยิ่งทุ่มลงไปมาก ดุลที่ตัวชาวบ้านแต่ละคนก็เสียไปมากขึ้น

แต่ถ้าเงินที่ทุ่มลงไปนั้นได้เกิดผลจนกระทั่งถึงตัวกระเป๋าชาวบ้านจริงๆในทางสร้างสรรค์ชีวิตแต่ละคนเป็นผลส่วนใหญ่จากส่วนที่เสียไป ก็นับได้ว่าเกิดผลดี...ช่วยดุลชีวิตชาวบ้านแต่ละคนให้ดีขึ้น

แต่เท่าที่ได้ปรากฏมาแล้ว เงินที่ออกจากกระเป๋าชาวบ้าน กว่าจะเดินทางเข้าถึงคลังกลางก็ต้องสูญเสียไปส่วนหนึ่ง เงินที่เดินทางออกจากคลังกว่าจะถึงชีวิตชาวบ้านแต่ละคนก็ยิ่งสูญเสียหนักมาก และยิ่งนับวันยิ่งบานปลายออกไป สลับสับสนมากยิ่งขึ้น...รอยสูญเสียระหว่างการเดินทางของเงินที่ตนเองมีส่วนเป็นเจ้าของหนักมาก

ถ้าหากชีวิตแต่ละคนอยู่ในสภาวะเสียดุลชีวิตอยู่แล้ว ยิ่งทุ่มเงินเพื่อการพัฒนาลงไปมากเพียงใด แทนที่จะคิดแก้รอยรั่วทั้งหลายก็เกรงว่าจะเป็นการเดินทางผิด เพราะผลจะยิ่งทำให้ชีวิตชาวบ้านต้องทรุดหนักยิ่งขึ้น

หลักธรรมที่ทุกคนฝ่าฝืนไม่ได้...นั่นคือ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ อยู่ได้ด้วยความมีชีวิตชีวา อยู่ได้ด้วยการร่วมกัน ทุกสิ่งทุกอย่างจึงจะพัฒนาไปได้ด้วยความราบรื่น...บังเกิดความสงบสุข มนุษย์ทุกรูปทุกนามปากว่าแสวงหาความสงบสุขด้วยกันทั้งสิ้น...มนุษย์ผู้เรียกตนเองว่าเจริญด้วยการศึกษามีปัญญาปราดเปรื่อง มีโอกาส มีอำนาจ ทำอะไรๆได้เหนือมนุษย์ผู้ไม่มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนและไม่มีโอกาสมั่งมี ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่ทำให้ชาติตกอยู่ในสภาวะที่ลำบาก...ผู้มีโอกาสทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าหากยังคงยืนอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่หล่อหลอมตนเองให้เป็นคนยึดอาณาจักร สร้างและแสวงอำนาจวาสนา...ยิ่งพยายามแยกเอาวัตถุออกมาจากธรรมชาติและความมีชีวิตชีวา

เปลี่ยนวัตถุมาเป็นผลตอบสนองความต้องการทางวัตถุของตนและกลุ่มตนแล้ว...ผลที่เป็น “คำตอบ” ซึ่งรออยู่เบื้องหน้าก็คือ วัตถุเหล่านั้นแหละ ยิ่งทำ...หรือจะเรียกว่าพัฒนากันไปเถอะ นับวันก็ยิ่งเพิ่มพิษภัย...และฆ่ามนุษย์เองในที่สุด

เรียนรู้อดีตเพื่อเข้าใจปัจจุบันและมองเห็นอนาคต...ด้วยรักและอาลัย ศาสตราจารย์ระพี สาคริก อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อเช้าวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561.